POPS WORLDWIDE - LEADING DIGITAL ENTERTAINMENT IN SOUTHEAST ASIA

Blogs

การตลาดบนเกมออนไลน์ แบรนด์จะเข้าไป Collab อย่างไรดี

2020/10/31

เกมออนไลน์ มีมูลค่าการตลาดที่สูงมาก และมีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างจะเป็นวัยรุ่นที่มีความพร้อมในการบอกต่อ กระจายข่าวสาร และสร้างเทรนด์ใหม่ๆ บนโลกออนไลน์อยู่เสมอ แบรนด์จึงไม่ควรมองข้ามในการ Collab บนแพลทฟอร์มเกมออนไลน์ ซึ่งมีแนวทางในการทำอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาชวนคุณเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากเกมที่กำลังฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในตอนนี้


หากพูดถึงเกมออนไลน์ที่กำลังเป็นกระแสและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนี้ คงจะหนีไม่พ้น เกม Free Fire จากค่าย Garena ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2018 แต่สามารถสร้างยอดดาวน์โหลดได้สูงที่สุดใน Play Store กว่า 500 ล้านดาวน์โหลด และมีจำนวนผู้เล่นพร้อมกันในแต่ละวันถึง 100 ล้านคนจากทั่วโลก

Free Fire เป็นเกมแนวต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด แม้จะไม่ได้มีความละเอียดของภาพที่สูงนัก แต่กลับเป็นข้อได้เปรียบทำให้เกมนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นได้ง่าย สามารถเล่นได้บนมือถือที่มีสเปคไม่สูง เกมนี้จึงแพร่หลายได้อย่างรวดเร็ว

Free Fire เกมออนไลน์ที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุด ปี 2020

แบรนด์จะเข้าไปทำการตลาดในเกม Free Fire ได้อย่างไร?

แบรนด์สามารถเข้าไปทำการตลาดบนแพลทฟอร์มเกมออนไลน์ได้หลากหลายวิธีด้วยกัน โดยเราสามารถสรุปแนวทางการทำการตลาดในตลาดเกมได้คร่าวๆ 6 วิธี

  1. Exclusive Product

    การทำ Exclusive Product ร่วมกับเกมออนไลน์ ซึ่งจะทำคอนเทนท์ในเกม เช่น ตัวละคร เข้ามาอยู่บนสินค้า พร้อมกับสร้างแคมเปญการตลาดแจกโค้ดไอเทม Exclusive เพื่อดึงดูดความสนใจของคนเล่นเกม และสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าที่เป็นผู้สนับสนุนเกม ช่วยกระตุ้นกลุ่มคนเล่นเกมให้สนใจในสินค้าของแบรนด์ไปด้วยในตัว ตัวอย่างเช่น แคมเปญของอิชิตัน x Free Fire ซึ่งมีรูปภาพของตัวละครใหม่ในเกมอยู่บนสลากข้างขวดเครื่องดื่มของอิชิตัน พร้อมกับรหัสใต้ฝาที่สามารถนำไปแลกไอเทมในเกมได้

แคมเปญการตลาดระหว่างอิชิตัน และ เกม Free Fire

  1. CSR campaign

    แคมเปญเพื่อสังคม เป็นอีกกิจกรรมทางการตลาดที่แบรนด์สามารถทำร่วมกับเกมในฐานะผู้สนับสนุนกิจกรรม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์อยู่ในความจดจำของคนเล่นเกม โดยคนเหล่านี้พร้อมจะเป็นฐานแฟนคลับที่มีความคุ้นเคยต่อแบรนด์เมื่อต้องการซื้อสินค้า เช่น การทำแคมเปญ CSR ของ Free Fire ที่ทำร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงา ในการรณรงค์ต่อต้าน Cyberbullying บนโลกออนไลน์ ด้วยการให้ผู้เล่นเกมเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ แลกกับการได้รับไอเทมพิเศษในเกม

    แคมเปญ CSR ของ Free Fire ทำร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงา

  2. In-game Experiences

    ฐานแฟนของคนเล่นเกมในแต่ละวันมีอยู่ไม่น้อย จึงเป็นช่องทางที่ดีหากแบรนด์สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเกมเพื่อสร้างการรับรู้ชื่อแบรนด์ (Brand Awareness) และสร้างประสบการณ์ดีๆ ของแบรนด์กับคนเล่นเกมได้ ยกตัวอย่างเช่น แคมเปญของ Selvedgework แบรนด์กางเกงยีนส์แฮนด์เมด ที่ผู้เล่นสามารถทำกิจกรรมในเกมและได้รับกางเกงของแบรนด์ไปเป็นเครื่องแต่งกายของตัวละคร ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์พร้อมๆ กับการสร้างประสบการณ์การใช้งานเสมือนจริงให้กับกลุ่มเป้าหมายด้วย

    แคมเปญ Free Fire x Selvedgework

  3. On-ground experiences

    สร้างประสบการณ์ในชีวิตจริงให้กับคนเล่นเกม ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์ โดยการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบผสมผสาน (OMO – Online Merges with Offline) ซึ่งนำเอาประสบการณ์ในเกมมาสู่โลกแห่งความจริง ยกตัวอย่างเช่น แคมเปญของ Free Fire ที่ทำร่วมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT โดยเปลี่ยนโฉมสถานีให้เป็นโลกของเกม โดยภายในบริเวณต่างๆ ของสถานีจะมี QR Code ให้ผู้เล่นเกมสามารถสแกนเพื่อลุ้นรับไอเทมพิเศษได้ด้วย เสมือนเป็นการเล่นเกมในชีวิตจริง

    แคมเปญการตลาด เกม Free Fire x MRT

  4. Official Sponsorship

    เกมออนไลน์หลายต่อหลายเกม จะมีการแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่แบรนด์สามารถเข้าไปร่วมสร้างกิจกรรมทางการตลาดด้วยการเป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน พร้อมๆ กับ โอกาสในการสร้างยอดขายให้กับสินค้าของตน เช่น แคมเปญของ DTAC ในการเป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน Free Fire Pro League Season 3 ซึ่งคนที่เล่นเกม Free Fire จะได้ของแถมเป็นไอเทมพิเศษภายในเกม เมื่อซื้อซิมการ์ดของ DTAC

    แคมเปญ DTAC x FREE FIRE PRO LEAGUE

  5. Influencer-based awareness

    การทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์สายเกม ซึ่งส่วนใหญ่อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้คือคนเล่นเกมที่มีชื่อเสียงนั่นเอง และคนเหล่านี้จะมีผู้ติดตามที่ชื่นชอบวิธีการเล่น หรือเป็นแฟนคลับจากการแข่งขันคอยติดตามดูคลิปใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นช่องทางที่แบรนด์มักจะนึกถึงเป็นทางเลือกเสมอ เมื่อต้องการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการในวงกว้าง ยกตัวอย่างแคมเปญ เครื่องโกนหนวดของ Phillips ที่เจาะกลุ่มคนเล่นเกมส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชาย โดยใช้ Influencer นักเล่นเกม รีวิวสินค้าในการใช้ชีวิตประจำวันของตน ด้วยคอนเซปต์เครื่องโกนหนวดที่โกนได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ในขณะเล่นเกม

    โปรโมทสินค้าผ่านช่องทางยูทูปของอินฟลูเอนเซอร์สายเกม

     


    ปรึกษาการสร้างแคมเปญการตลาดบนช่องทางต่างๆ กับผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์โดยตรง ที่ POPS Thailand  คลิกที่นี่

    ดูข้อมูลและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ความช่วยเหลือด้านแบรนด์และโฆษณา คลิกที่นี่